2 06 04 01 การกำหนดชื่อผู้ตรวจ เพื่อตรวจปล่อยของที่นำเข้าและส่งออก
ให้หัวหน้าหน่วยงานตรวจปล่อยหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย กำหนดชื่อและจำนวนผู้ตรวจปล่อยตรวจของที่นำเข้าหรือของที่ส่งออกโดยพิจารณา ให้เป็นไปโดยเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) การกำหนดชื่อผู้ตรวจของที่นำเข้าระดับสารวัตรศุลกากร ให้ตรวจของที่ต้องรับผิดชอบสูง โดยพิจารณาจากประวัติหรือพฤติการณ์ของผู้นำของเข้าหรือตัวแทน ชนิดและปริมาณของลักษณะ ความยากง่ายของของที่จะตรวจ มูลค่าของภาระค่าภาษีอากร เหตุจูงใจที่อาจเกิดการทุจริต รวมทั้งเหตุต่างๆ อย่างอื่นด้วย
(2) การกำหนดชื่อผู้ตรวจของ ที่นำเข้าระดับนายตรวจศุลกากรที่จะทำการตรวจของโดยสารวัตรศุลกากรไม่ต้องกำกับ การตรวจ ให้ตรวจของที่มีความสำคัญและรับผิดชอบรองลงมาจากข้อ (1)
(3) ผู้ตรวจของระดับสารวัตรศุลกากรที่จะกำหนดให้ตรวจของส่งออก ให้ตรวจของที่ต้องรับผิดชอบสูง โดยพิจารณาจากประวัติหรือพฤติการณ์ของผู้ส่งของออกหรือตัวแทน ชนิดและปริมาณของ ลักษณะความยากง่ายของของที่จะตรวจมูลค่าของของส่งออกที่ขอคืนอากรตามกฏหมายศุลกากร หรือของผลิตในราชอาณาจักรที่ส่งออกไป โดยขอชดเชยค่าภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากร สินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524 เหตุจูงใจที่อาจเกิด การทุจริต รวมทั้งเหตุต่างๆ อย่างอื่นด้วย
(4) ผู้ตรวจของระดับนายตรวจศุลกากรที่จะกำหนดให้ตรวจของที่ส่งออก โดยสารวัตรศุลกากรไม่กำกับการตรวจ ให้ตรวจของที่มีความสำคัญและรับผิดชอบรองลงมาจากของตามข้อ (3)
การกำหนดชื่อผู้ตรวจของระดับสารวัตรศุลกากรและ/หรือนายตรวจศุลกากร จะกำหนดให้คนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว หรือมากกว่าหนึ่งคนร่วมกันตรวจก็ได้ โดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ในข้อ (1) หรือข้อ (3) แล้วแต่กรณี ทั้งนี้เพื่อป้องกันการทุจริต และสะดวกในการควบคุมดูแล ตลอดจนความคล่องตัวในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากร
การตรวจและการบันทึกรายการตรวจปล่อยของ ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานตรวจปล่อยผู้ได้รับการกำหนดชื่อเท่านั้น
2 06 04 02 การตรวจปล่อยและเก็บอากรไปรษณีย์ภัณฑ์ โดยใช้ใบแจ้งความพัสดุไปรษณีย์ภัณฑ์
ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรทางไปรษณีย์จะเป็นสินค้าหรือไม่ก็ตาม และไม่ว่าผู้รับจะเป็นบุคคล ธรรมดาหรือบริษัท ห้าง ร้าน ถ้ามีราคาไม่เกิน 20,000 บาท ทั้งนี้โดยไม่จำกัดว่าอากรที่ต้องชำระจะเป็นจำนวนเงินเท่าใด ถือว่าเป็นของเล็กน้อย ไม่ต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า แต่ให้ใช้ใบแจ้งความพัสดุไปรษณีย์ภัณฑ์ (แบบที่ 91 ข. หรือ ป.92 ข. แล้วแต่กรณี) ยื่นผ่านพิธีการศุลกากรแทนใบขนสินค้าขาเข้า โดยให้หน่วยงานตรวจปล่อยทำการตรวจของและบันทึกรายละเอียดแห่งของไว้ในใบแจ้งความฯ ให้หน่วยงานประเมินอากรทำการประเมินราคา และคำนวณค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียม (รวมทั้งค่าเก็บรักษาของในคลังสินค้าของศุลกากร) และค่าภาระติดพันอื่นๆ (หากมี) โดยบันทึกรายละเอียดที่คำนวณไว้ในช่อง รายการ ตามใบแจ้งความฯ ออกใบเสร็จค่าธรรมเนียมภาษีอากรปากระวาง (กศก.118) เพื่อเรียกเก็บเงินรายได้แผ่นดินตามที่คำนวณไว้ข้างต้น แล้วทำการตรวจปล่อย
เมื่อได้ตรวจปล่อยเสร็จสิ้นไปแล้ววันหนึ่ง ๆ ให้รวบรวมใบแจ้งความฯ ที่ได้ตรวจปล่อยของไปแล้ว ในวันนั้นทั้งหมด ทั้งที่เสียอากรและยกเว้นอากรมาจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า สำแดงรายการในใบขนสินค้าขาเข้า และนำเงินอากรและค่ารักษาของพร้อมส่งแบบอากรปากระวางต่อหน่วยงานเก็บอากร แล้วจึงส่งเอกสาร เหล่านั้นไปให้สำนักสืบสวนและปราบปราม
แต่ถ้ารายใดตรวจพบว่า ไม่เข้าลักษณะที่จะตรวจปล่อย และเก็บอากรแบบอากรปากระวางได้ ก็ให้ทำใบขนสินค้า ขาเข้าชำระอากรให้ถูกต้องต่อไป
2 06 04 03 ของที่ไม่ต้องทำใบขนสินค้าขาเข้า
ของที่นำเข้าทางไปรษณีย์ ซึ่งได้รับการผ่อนผันไม่ต้องทำใบขนสินค้าขาเข้า ตามประมวลฯ ข้อ 2 06 04 01 นั้น ให้ปฏิบัติดังนี้
(1) ของราคาไม่เกิน 20,000 บาท นั้น หมายถึงของที่ส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งถึงผู้รับคนหนึ่งในคราวเดียวกัน หรือเข้ามาถึงพร้อมกัน ไม่ว่าจะมีจำนวนกี่หีบห่อ ไม่ใช่หมายถึงราคาของแต่ละหีบห่อ
(2) กรณีที่ผู้นำของเข้ารายใดประสงค์จะขอให้รับรอง ธ.ต.1 ถ้าตรวจสอบเห็นได้ว่าเป็นของรายเดียวกันย่อมรับรองให้ได้เพราะเป็นการปฏิบัติทำนองเดียวกับการสลักหลังใบอนุญาต
(3) ของที่ทำใบขอเปิดตรวจแล้ว แต่พบว่าของรายนั้นมีราคาไม่เกิน 20,000 บาท ก็ไม่ต้องทำใบขนสินค้า
(4) ของที่ทำใบสุทธินำกลับไว้ ถ้าราคาไม่เกิน 20,000 บาท ก็ไม่ต้องทำใบขนสินค้า โดยให้สำแดงไว้ในใบแจ้งความฯ ว่าเป็นของส่งออกไปตามใบสุทธิฯ เลขที่เท่าใด และให้ปฏิบัติทำนองเดียวกับกรณียื่นใบขนสินค้า
(5) ของนำเข้าชั่วคราวตามพิกัดฯ ภาค 4 ประเภทที่ 3 หากราคาไม่เกิน 20,000 บาท ก็ไม่ต้องทำใบขนสินค้า
(6) ของที่นำเข้ามาแล้วยังไม่ได้รับไปและของส่งกลับ ให้ถือปฏิบัติทำนองเดียวกับของติดเรือกลับซึ่งไม่อยู่ในบังคับเรื่องราคาและอากรนี้ กล่าวคือไม่ว่าราคาเท่าใด ย่อมส่งกลับออกไปได้โดยไม่ต้องทำใบขนสินค้า
2 06 04 04 การตรวจปล่อยและเก็บอากรสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ โดยใช้ใบขนสินค้าขาเข้า
การตรวจปล่อยสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่ไม่ต้องตามประมวลฯ ข้อ 2 06 04 02 และ 2 06 04 03 ข้างต้น รวมทั้ง ของต้องกำกัดประเภทอาวุธปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืน ให้ตรวจปล่อยโดยการใช้ใบขนสินค้าขาเข้า ครบชุดผ่านการตรวจสอบประเมินราคาจากหน่วยงานพิธีการ ตามระเบียบปฏิบัติปกติ
ใบขนสินค้าขาเข้าซึ่งผู้นำของเข้ายื่นบัญชีราคาสินค้าอันพึงพอใจประกอบการตรวจสอบหรือ ใบขนสินค้า ที่ต้องอากรตามสภาพ หรือใบขนยกเว้นอากร เมื่อได้ตรวจสอบถูกต้องและประเมินอากรแล้ว ให้ชำระอากรหรือให้เลขที่ยกเว้นอากรทางหน่วยงานพิธีการแล้ว จึงคุมใบขนสินค้าพร้อมด้วยหีบห่อ ของไปให้หน่วยงานตรวจปล่อย เพื่อทำการตรวจปล่อย คือ ใช้วิธีชำระอากรหรือเลขที่ยกเว้นอากรก่อน แล้วจึงตรวจปล่อยภายหลัง
ใบขนสินค้าขาเข้าซึ่งไม่มีบัญชีราคาสินค้าอันพึงพอใจประกอบการตรวจสอบ ให้ใช้วิธีตรวจสินค้าก่อน แล้วชำระอากร หรือให้เลขที่ยกเว้นอากรภายหลัง กล่าวคือ เมื่อผู้นำของเข้าผ่าน ใบขนสินค้าขาเข้าแล้วให้ขอรับการตรวจจากหน่วยงานตรวจปล่อยก่อนเมื่อได้ทำพิธีการตรวจและตีราคาสินค้าถูกต้องเรียบร้อยแล้ว ผู้นำของเข้าจึงขอชำระอากรหรือขอยกเว้นอากรทาง หน่วยงานพิธีการ และกลับมารับการสั่งปล่อยภายหลัง
กรณีข้างต้นนี้ให้ใช้แต่เพียงเท่าที่จำเป็น เช่น เป็นกรณีของใช้ส่วนตัว ของฝากของขวัญ ซึ่งไม่มีเอกสารราคาในทางการค้าอย่างเห็นได้ชัด หรือกรณีสินค้าตัวอย่างใหม่ ๆ ซึ่งส่งมายังผู้รับเพื่อประโยชน์ ในการสั่งซื้อและมีจำนวนพอสมควรแก่การเป็นตัวอย่าง เป็นต้น แต่หากพิจารณาแล้วเห็นว่าใบขนสินค้าขาเข้า รายใดมีลักษณะหรือปริมาณที่เห็นได้ว่าเป็นสินค้าที่นำเข้ามาเพื่อจำหน่าย และผู้มีชื่อรับของสั่งให้ส่งเข้ามา หรือผู้นำของเข้ามีเจตนาสำแดงหรือยื่นเอกสารประกอบอันอาจจะชักพาให้เจ้าหน้าที่หลงผิดได้ก็ให้ถือเป็นใบ ขนสินค้าขาเข้า ซึ่งไม่มีบัญชีราคาสินค้าอันพึงพอใจประกอบการตรวจสอบ ให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกันกับของ ที่นำเข้าทั่วไป เมื่อหน่วยงานพิธีการได้ตรวจสอบและประเมินราคาอากรแล้วให้ชำระอากร หรือวางประกัน หรือยกเว้นอากร แล้วแต่กรณี แล้วจึงคุมใบขนสินค้าฯ พร้อมด้วยหีบของไปให้หน่วยงาน ตรวจปล่อยเพื่อทำการตรวจปล่อย
กรณีจำเป็นต้องวางมัดจำให้เรียกเงินไว้เป็นมัดจำลอย เมื่อได้ปฏิบัติพิธีการสมบูรณ์แล้ว จึงให้หักมัดจำนั้น ชำระเป็นเงินอากร โดยไม่ต้องทำพิธีการขอคืนอากรก็ได้
2 06 04 05 การตรวจปล่อยไปรษณีย์ขาเข้า
การตรวจปล่อยไปรษณีย์ภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์ขาเข้านั้น ให้หน่วยงานตรวจปล่อยตรวจปล่อยไป ตามระเบียบปกติ เช่นเดียวกับการตรวจของเข้าทางเรือ
การประเมินราคาเพื่อเรียกเก็บเงินอากร ให้ส่งตัวอย่างไปยังหน่วยงานประเมินอากรทำการประเมินราคา เพื่อเรียกเก็บเงินอากร ให้เป็นไปโดยถูกต้อง
การตัดบัญชีสินค้า ให้นำใบขนสินค้าขาเข้ามาตัดบัญชีกำกับไปรษณีย์ภัณฑ์ (แบบที่ 431) ซึ่งถือว่า เป็นบัญชีสินค้าทางไปรษณีย์
2 06 04 06 ของที่ต้องส่งวิเคราะห์
ของรายใดสงสัย และจะต้องทำการวิเคราะห์ก่อน ให้กักของทั้งหมดไว้ เมื่อทราบผลวิเคราะห์แล้ว จึงให้ปล่อยของไปในภายหลัง หรือถ้าของรายใดที่พิจารณาจะปล่อยของไปก่อนได้ โดยไม่กระทบกระเทือน ถึงผลแห่งการวิเคราะห์ แล้วจะปล่อยของไปก่อน โดยเรียกเก็บเงินประกันไว้ให้คุ้มค่าอากร โดยให้ชักตัวอย่าง ไว้ก็ได้
ให้หน่วยงานตรวจปล่อยจัดส่งตัวอย่างของนั้นให้กับหน่วยงานวิเคราะห์สินค้าประจำด่านศุลกากร ไปรษณีย์
2 06 04 07 ใบขนสินค้าวางประกัน
การปฏิบัติเกี่ยวกับใบขนสินค้าวางประกัน ค่าอากรขาเข้า อากรขาออก ภาษีสรรพสามิต ค่าธรรมเนียม และค่าธรรมเนียมอื่น ให้ถือปฏิบัติตามภาค 2 และภาค 3 โดยอนุโลม
2 06 04 08 การปฏิบัติเกี่ยวกับการนำสินค้าที่อยู่ในข่ายควบคุมการนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เข้ามาในราชอาณาจักรทางไปรษณีย์
เพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการนำสินค้าที่อยู่ในข่ายควบคุมการนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์เข้ามาในราชอาณาจักรทางไปรษณีย์เป็นไปโดยถูกต้องตามพระราชกฤษฏีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2469 มาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมตามพระราชกฤษฏีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2518 มาตรา 5 จึงให้ถือปฏิบัติดังนี้
(1) กรณีนำติดตัวเข้ามาเพื่อใช้เฉพาะตัว ให้หมายถึง การนำของเข้ามาพร้อมกับตนเพื่อใช้สอยเป็นการส่วนตัว มิใช่นำเข้าเพื่อการค้า โดยพิจารณาจากปริมาณการนำเข้า แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า เมื่อมิใช่นำเข้าเพื่อการค้าแล้ว จะถือว่าเป็นกรณีนำติดตัวเข้ามาเพื่อใช้เฉพาะตัวเสมอไป โดยควรพิจารณามูลค่าของของที่นำเข้า ตลอดจนระยะเวลาที่อยู่ในต่างประเทศ ตามที่วิญญูชนจะพึงกระทำกันตามปกติ และกรณีที่เป็นของใช้ในบ้านเรือนจะต้องเป็นของที่ใช้แล้ว และการนำเข้าจะต้องสืบเนื่องมาจากการย้ายภูมิลำเนาด้วย
(2) กรณีที่ผู้นำเข้ามาเพื่อเป็นตัวอย่างเท่าที่จำเป็น ในกรณีหากเป็นการนำเข้าซึ่งสินค้าอุตสาหกรรม ผู้นำของเข้าควรเป็น ผู้ประกอบกิจการ โดยมีหลักฐานใบอนุญาตตั้งโรงงาน หรือใบอนุญาตประกอบกิจการมาแสดง หรือกรณีผู้นำของเข้าเป็นบริษัทค้าต่างประเทศ หรือตัวแทนโรงงานต้องแสดงหลักฐานความเกี่ยวพัน หรือการสั่งซื้อจากโรงงานประกอบ อุตสาหกรรมดังกล่าว สำหรับจำนวนที่นำเข้ามาให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าเหมาะสมหรือสมควรเพียงใด
(3) กรณีนำของเข้ามาโดยน้ำหนักและราคาไม่ตรงกับใบอนุญาต ให้ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ กล่าวคือ ถ้าน้ำหนักของของที่นำเข้าคลาดเคลื่อนไปจากที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตไม่เกินร้อยละ 10 หรือราคาของของที่นำเข้าคลาดเคลื่อนไปจากที่ระบุในใบอนุญาตไม่เกินร้อยละ 5 ให้ถือว่าของที่นำเข้าดังกล่าวเป็นไปตามใบอนุญาตฉบับนั้นๆ โดยไม่ต้องแก้ไขใบอนุญาตแต่อย่างใด แต่การตรวจปล่อยต้องบันทึกน้ำหนักหรือราคาของแล้วแต่กรณี ให้ตรงตามความเป็นจริงในใบอนุญาตด้วย เว้นแต่ของนำเข้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียม หรือเป็นของที่ต้องนำเข้าตามโควต้า หรือเป็นของที่มีข้อตกลงกับประเทศต่างๆ ไว้จะต้องเป็นไปตามที่ระบุในใบอนุญาต
(4) การนับวันบรรทุกสินค้าลงในยานพาหนะ สำหรับกรณีพิจารณายกเว้นไม่ต้องขออนุญาต การนำเข้าตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ อันเนื่องมาจากสินค้าได้บรรทุกในยานพาหนะ เพื่อส่งจากประเทศต้นทางมายังประเทศไทย ก่อนวันประกาศมีผลใช้บังคับนั้น ให้ถือว่าวันประทับตรารับขนสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งปรากฏเห็นได้บนหีบห่อสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ ออกให้โดยที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางแรกสุดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา
(5) การพิจารณาและผ่อนผันในอนุญาตและหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้นำของเข้ายื่นคำร้องขอโดยผ่านพิธีการเบื้องต้นไปก่อน (ทั้งในกรณีที่ต้องทำใบขนสินค้า และยื่นใบแจ้งความไปรษณีย์ เพื่อขอชำระอากรปากระวาง) แล้วให้หน่วยงานตรวจปล่อยตรวจของ แล้วเสนอสารวัตรศุลกากรเพื่อเสนอหัวหน้าหน่วยงานตรวจปล่อยพิจารณาผ่อนผัน หากเกิดปัญหาไม่อาจใช้ดุลพินิจเพื่อหาข้อยุติได้ ให้หัวหน้าหน่วยงานตรวจปล่อยเสนอความเห็นต่อนายด่านศุลกากรไปรษณีย์ โดยผ่านหัวหน้าหน่วยงานพิธีการ เพื่อสั่งการต่อไป
(6) ห้ามมิให้ปฏิเสธไม่รับคำร้องขอผ่อนผันใบแจ้งความฯ หรือใบขนสินค้าที่ผู้นำของเข้ามายื่น เพื่อขอรับของหรือ สินค้า ไม่ว่าของหรือสินค้าที่นำเข้าจะอยู่ในข่ายได้รับการผ่อนผัน ไม่ต้องมีใบอนุญาตหรือไม่ก็ตาม
(7) การพิจารณาผ่อนผันไม่ต้องขออนุญาตนำเข้า สำหรับกรณีตามข้อ (1) และ (2) ข้างต้น ให้หน่วยงานตรวจปล่อยจัดทำสมุดควบคุมสถิติ แล้วรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าที่ตรวจปล่อยไปเพื่อนำเสนอให้กรมทราบเป็นรายเดือน
2 06 04 09 การขอรับเงินอากรที่มอบให้การสื่อสารแห่งประเทศไทยเก็บแทน
เมื่อสิ้นเดือนหนึ่ง ๆ ให้ด่านศุลกากรไปรษณีย์ปิดยอดบัญชีแสดงรายการว่าในเดือนนั้น มีการเปิดตรวจ ประเมินอากรส่งให้การสื่อสารแห่งประเทศไทยรวมทั้งสิ้นกี่ห่อ เป็นของต้องเสียอากรกี่ห่อ ยกเว้นอากรกี่ห่อ รวมยอดเงินอากรทั้งเดือนเท่าใด
สำหรับส่วนกลางให้ด่านศุลกากรไปรษณีย์ทำหนังสือส่งบัญชีค่าอากรไปยังการสื่อสารแห่งประเทศไทย ขอรับเงินอากรดังกล่าว สำหรับส่วนภูมิภาคให้ด่านศุลกากรส่งบัญชีค่าอากรสองชุดไปยังด่านศุลกากรไปรษณีย์ และให้ด่านศุลกากรไปรษณีย์ทำหนังสือถึงการสื่อสารฯ ขอรับเงินอากรเช่นเดียวกับทางส่วนกลาง
ให้ด่านศุลกากรไปรษณีย์ และด่านศุลกากรประจำที่ทำการแลกเปลี่ยนถุงไปรษณีย์จัดให้มีสมุดคุมยอด เงินอากรประจำเดือนไว้ โดยแสดงยอดที่ขอรับเงินไปยังการสื่อสารฯ และยอดเงินที่ได้รับแต่ละงวดจนครบ
เมื่อการสื่อสารฯ ส่งเงินมาให้แล้ว ให้ด่านศุลกากรไปรษณีย์จัดทำใบขนสินค้านำส่งเงินอากรดังกล่าว และถ้าเป็นเงินอากรในส่วนภูมิภาคที่ด่านศุลกากรเป็นผู้ประเมิน ให้ส่งสำเนาหนังสือตอบการสื่อสารฯ ไปยังด่านศุลกากรนั้น เพื่อตัดบัญชี
เป็นหน้าที่ของด่านศุลกากรไปรษณีย์ที่จะต้องคอยติดตามเร่งรัดการสื่อสารฯ เพื่อให้ได้รับเงินอากร ภายในเวลาอันควร
2 06 04 10 การนำเงินส่งกรม
ให้นายด่านศุลกากรไปรษณีย์หรือผู้ได้รับมอบหมายจัดนำเงินทุกประเภทส่งกรมศุลกากรทุกวันพุธ และวันศุกร์ โดยปฏิบัติตามระเบียบการนำส่งเงินของทางราชการ
|