2 06 01 01 หลักการทั่วไป
(1) สิ่งของส่งทางไปรษณีย์
สิ่งของส่งทางไปรษณีย์ แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ 3 ประเภท คือ
(1.1) ไปรษณีย์ภัณฑ์ (POSTAL ITEM) หมายถึง บรรดาสิ่งของที่ส่งทางไปรษณีย์ซึ่งฝากส่งตามหลักเกณฑ์และ เงื่อนไขของไปรษณีย์ภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 5 ชนิด คือ จดหมาย ไปรษณีย์บัตร ของตีพิมพ์ พัสดุย่อย และ เครื่องอ่านสำหรับคนเสียจักษุ
(1.2) พัสดุไปรษณีย์ (PARCEL POST) หมายถึง หีบห่อ บรรจุสิ่งของตัวอย่างสินค้า หรือสินค้าที่ฝากส่งตาม หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของพัสดุไปรษณีย์
(1.3) ไปรษณีย์ด่วนพิเศษ (EXPRESS MAIL SERVICE : EMS) หมายถึง สิ่งต่างๆ เช่น ข่าวสาร เอกสารธุรกิจการค้า สิ่งพิมพ์ ตัวอย่างสินค้า เป็นต้น ซึ่งฝากส่งโดยใช้บริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษ
(2) อำนาจของนายด่านศุลกากรไปรษณีย์ที่ได้รับมอบหมาย
อธิบดีกรมศุลกากรได้มอบหมายอำนาจให้นายด่านศุลกากรไปรษณีย์ เป็นผู้ทำการแทนเกี่ยวกับพิธีการใน เรื่องศุลกากร และการผ่อนผันใดๆ ซึ่งอธิบดีมอบหมายให้ส่วนพิธีการนำเข้า สำนักงานศุลกากรนำเข้าท่าเรือกรุงเทพ ทำการแทนได้ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ซึ่งอธิบดีสั่งการให้ด่านศุลกากรไปรษณีย์ปฏิบัติเป็นการเฉพาะ
(3) ระเบียบปฏิบัติงานที่ศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่
ให้จัดตั้งงานตรวจคัดไปรษณีย์ภัณฑ์ที่ศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ ขึ้นกับฝ่ายตรวจคัดไปรษณีย์ภัณฑ์ด่านศุลกากรไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ
(3.1) ให้ด่านศุลกากรไปรษณีย์จัดเจ้าหน้าที่ไปควบคุม ดูแล รับผิดชอบในการปฏิบัติงานที่ศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ ได้แก่
(3.1.1) กำกับการเปิดถุงไปรษณีย์ภัณฑ์ขาเข้าประเภทลงทะเบียน ไปรษณีย์ด่วนพิเศษ และไปรษณีย์ภัณฑ์ประเภทธรรมดา
(3.1.2) ตรวจคัดไปรษณีย์ภัณฑ์
(3.1.3) ประเมินอากรไปรษณีย์ภัณฑ์ที่เปิดตรวจเพื่อประเมิน
(3.1.4) ตรวจสอบพัสดุไปรษณีย์และไปรษณีย์ภัณฑ์ส่งออก
(3.1.5) ควบคุมการปิดถุงไปรษณีย์ส่งออก
(3.1.6) สอดส่องปราบปรามการลักลอบหลีกเลี่ยงศุลกากรสำหรับไปรษณีย์ภัณฑ์นำเข้าและส่งออก
(3.2) การปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ศุลกากรให้ถือปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างการสื่อสารแห่งประเทศไทยกับกรมศุลกากร ที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2535 โดยอนุโลม
(3.3) การขนส่งสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ ประเภทของต้องห้ามต้องกำกัด และ / หรือที่ต้องปฏิบัติพิธีการที่ด่านศุลกากรไปรษณีย์ ให้ถือปฏิบัติดังนี้
(3.3.1) การขนส่งจากศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่มายังคลังศุลกากร (ฝ่ายเก็บรักษาไปรษณีย์ภัณฑ์) ให้ใช้รถบรรทุกชนิดตู้ทึบของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ต้องขนย้ายตามเส้นทางที่อนุมัติ และให้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรมัดลวดประทับตรากศก. ที่ประตูเปิด-ปิดตู้บรรทุกโดยไม่ต้องมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรคุมส่งในกรณีเกิดอุบัติเหตุจนไม่สามารถนำของดังกล่าวส่งถึงคลังศุลกากรได้ให้พนักงานผู้ควบคุมรถรายงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรหน่วยที่ใกล้ที่สุดเพื่อควบคุมการขนถ่ายเปลี่ยนรถ
เส้นทางอนุมัติที่ใช้ในการขนส่ง คือ จากศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่เลี้ยวซ้ายเข้าถนน แจ้งวัฒนะ เลี้ยวซ้ายขึ้นทางด่วนบางโคล่-แจ้งวัฒนะ ลงทางด่วนที่ถนนพระรามที่ 4 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนบรรทัดทอง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรองเมือง เลี้ยวซ้ายเข้าถนนริมทางรถไฟ และเลี้ยวซ้ายเข้าศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพ (ด่านศุลกากรไปรษณีย์) บริเวณชั้น 2 ของศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพเพื่อส่งมอบถุงพัสดุไปรษณีย์
(3.3.2) เมื่อเจ้าหน้าที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้รับมอบสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ที่คัดเข้าคลังศุลกากรพร้อม ?บัญชีกำกับไปรษณีย์ภัณฑ์ต้องเสียอากรหรือต้องห้ามต้องกำกัด? (แบบที่ 431) โดยมีสำเนา 2 ฉบับ เพื่อจะนำขึ้นบรรจุในรถบรรทุก ให้พนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทยซึ่งควบคุมรถบรรทุกนับจำนวนหีบห่อที่นำขึ้นบรรทุกให้ครบถ้วน แล้วลงลายมือชื่อรับของในสมุดนำส่งของเจ้าหน้าที่ศุลกากร
(3.3.3) เมื่อรถบรรทุกมาถึงคลังศุลกากร (ฝ่ายเก็บรักษาไปรษณีย์ภัณฑ์) ให้นำรถมาจอดหน้าประตูลิฟท์ชั้นสอง แล้วนำสมุดนำส่งส่งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากร ฝ่ายเก็บรักษาไปรษณีย์ภัณฑ์ เพื่อมาทำลายตราประทับ กศก. แล้วตรวจนับจำนวนของให้ถูกต้องครบถ้วนตามสมุดนำส่งกำกับ การขนของเข้าเก็บในคลังศุลกากร แล้วลงลายมือชื่อรับของในสมุดนำส่งและคืนพนักงานการสื่อสาร ผู้ควบคุมรถบรรทุกไป
(3.3.4) เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากร ฝ่ายเก็บรักษาไปรษณีย์ภัณฑ์ได้ตรวจสอบของตรงตามบัญชีกำกับไปรษณีย์ภัณฑ์ต้องเสียอากรหรือต้องห้ามต้องกำกัด (แบบที่ 431) แล้วให้ลงลายมือชื่อรับของในสำเนาแผ่นที่ 2 ส่งคืนให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ โดยใส่ในสมุดนำส่งเที่ยวถัดไป
(3.4) ระเบียบและประมวลฯข้อใดที่ได้ปฏิบัติอยู่เดิม และไม่ขัดกับประมวลฯ ข้อนี้ ให้ถือปฏิบัติต่อไป
(4) การปฏิบัติเกี่ยวกับถุงไปรษณีย์ที่ชำรุดที่นำเข้าทางอากาศยาน
ถุงไปรษณีย์ที่ชำรุด หรือผนึกแตกทำลาย ซึ่งนำเข้าทางอากาศยานนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่สำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพ ไปร่วมตรวจสอบกับเจ้าหน้าที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่สายการบินที่นำ ถุงไปรษณีย์นั้นเข้ามาแล้ว จะต้องจัดทำรายงานผลการตรวจสอบให้ด่านศุลกากรไปรษณีย์ทราบ ให้ด่านศุลกากรไปรษณีย์ตรวจสอบถุงไปรษณีย์ดังกล่าว ร่วมกับเจ้าหน้าที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย แล้วเสนอผลการตรวจสอบพร้อมด้วยรายงานของสำนักงานท่าอากาศยานกรุงเทพ ต่อกรมศุลกากรโดยผ่านสำนักกฎหมาย
2 06 01 02 ด่านศุลกากรประจำที่ทำการไปรษณีย์อันเป็นที่ทำการแลกเปลี่ยนถุงไปรษณีย์กับต่างประเทศ
ให้ด่านศุลกากรต่อไปนี้มีอำนาจหน้าที่ควบคุมของที่นำเข้าและส่งออกทางไปรษณีย์ประจำที่ทำการไปรษณีย์ อันเป็นที่ทำการแลกเปลี่ยนถุงไปรษณีย์กับต่างประเทศแต่ละแห่ง คือ
(1) ด่านศุลกากรสงขลา ประจำที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสงขลา และที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขหาดใหญ่
(2) ด่านศุลกากรภูเก็ต ประจำที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขภูเก็ต
(3) ด่านศุลกากรหนองคาย ประจำที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขหนองคาย
(4) ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก ประจำที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขสุไหงโก-ลก
การควบคุมตรวจสอบของที่นำเข้าและส่งออกทางไปรษณีย์ ให้ประสานงานกับเจ้าพนักงานไปรษณีย์และปฏิบัติตามเวลาปิดเปิดถุงไปรษณีย์ ซึ่งได้รับแจ้งจากที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข การปฏิบัติของด่านศุลกากร ให้ถือตามคำสั่งเกี่ยวกับของที่นำเข้าและส่งออกทางไปรษณีย์ซึ่งด่านศุลกากรไปรษณีย์ปฏิบัติอยู่โดยอนุโลม หากมีข้อสงสัยในการปฏิบัติปลีกย่อย ให้ติดต่อประสานงานกับด่านศุลกากรไปรษณีย์เพื่อให้รูปงานเป็นไปในแนวเดียวกัน
|